เทศบาลตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง : www.pamok.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว

วัดป่าโมกวรวิหาร


วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ภายในวัดแห่งนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้

ต่อมากระแสน้ำริมฝังแม่น้ำเจ้าพระยา กัดเซาะตลิ่ง หน้าวัดป่าโมก(เดิม) พังใกล้วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ประมาณสัก 1 ปี วิหารและพระพุทธไสยาสน์ เห็นจะพังลงน้ำเสียแล้ว พระมหาสุวรรณโชติ เจ้าอธิการวัดป่าโมก ได้เข้าพบพระยาราชสงคราม(ปาน) ครั้งดำรงฐานันดรศักดิ์ พระราชสงคราม แจ้งความเรื่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา กัดเซาะตลิ่งพัง พระราชสงครามได้ฟังดังนั้น จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 9 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทราบเหตุแห่งพระพุทธไสยาสน์นั้นทุกประการ ต่อมาได้ทรงกรุณาโปรดฯให้พระราชสงคราม เป็นแม่กองชักชลอพระพุทธไสยาสน์ให้พันจากอุทกอันตรายเมื่อปีศักราช 1088 (พ.ศ.2270) มาสถิต ณ วัดใต้ หรือวัดตลาด คือวัดป่าโมกวรวิหาร ปัจจุบันนี้ ห่างจากวัดป่าโมก(เดิม) 10 เส้น ใช้เวลาในการชักชะลอ 5 เดือน แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย แล้วทรงกรุณาฯ โปรดให้สร้างวิหาร ศลาการเปรียญ โรงอุโบสถ พระเจดีย์ กุฏิ ศาลา กำแพง หอไตร ฉนวน 54 ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง ส้วม ถาน สะพาน และบันได 5 ปีจึงแล้วเสร็จ ยังมิได้ฉลองสมเด็จพระเจ้าท้ายสระประชวรและสวรรคต

สิ่งสำคัญในวัดป่าโมกวรวิหารเช่น พระวิหารเขียน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ทิศใต้ของศาลาฉนวน สร้างในสมัยพระเจ้าท้ายสระที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าท้ายสระ ในคราวเสด็จชะลอพระพุทธไสยาสน์ เล่ากันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูงเข้าใจว่าเป็นแท่นที่เคยมีกษัตริย์เสด็จประทับยืนบริเวณนั้น มีภาพเขียนชาดก ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3-4 บานประตูกลางวิหารเขียนเป็นมุก ได้นำไปไว้ที่วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้านหน้าพระวิหารมีเรือสำเภาก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ตรงกลางลำเรือนั้นอยู่ พระมณฑปพระพุทธบาท 4 รอย ตั้ง อยู่ระหว่าง พระวิหารเขียนกับพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ รอยพระพุทธบาทสลักด้วยหิน เล่าสืบกันต่อมาว่า เดิมตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก พระอุโบสถ พระวิหารเขียน และพระมณฑปพระพุทธบาทสี่รอย เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุของกรมศิลปากรแล้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ 2478 พระวิหารน้อย ตั้งอยู่ด้านหน้าของวิหารพระพุทธไสยาสน์ ทิศเหนือของศาลาฉนวน ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโมก ตั้งอยู่นอกกำแพงด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เหนือศาลาฉนวนหรือศาลายาว เป็นทางเดินจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ อีกทั้งยังมีหอไตร และศาลเจ้าแม่ช่อมะขาม

วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก

พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร

 

พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดป่าโมก ซึ่งมีชื่อเดิมว่า วัดตลาด อยู่ที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง วัดป่าโมก เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง
พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ มีความเก่าแก่คู่กันมากับวัด มีขนาดใหญ่โตและงดงามมาก สร้างก่อนรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จมาประชุมพลก่อนจะเสด็จไปรบกับ พระมหาอุปราชา ได้เสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2135

 

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช-สมเด็จพระเอกาทศรถ วัดป่าโมกวรวิหาร

 

พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประกอบพิธีเททองหล่อโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2533 ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างศาลหลักเมือง จังหวัดอ่างทอง

พระบรมรูปสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ประกอบพิธีเททองหล่อ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ณ บริเวณพระอุโบสถวัดท่าสุทธาวาส อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

ต่อมาเมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2534 นายทวีป ทวีพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองในขณะนั้น ได้เป็นประธานในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ บริเวณหน้ากุฎิอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหาร ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเคียงคู่กับพระบรมรูปสมเด็จพระเอกาทศรถ

ปัจจุบัน จังหวัดอ่างทองได้จัดให้มีพิธีถวายสักการะ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ณ วัดป่าโมกวรวิหาร ในวันที่ 18 มกราคม และ วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี

 

 

อนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ พระครูโสภณกิตยาภรณ์ (พระมหาสมเกียรติ จันทรขจร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรามวรวิหาร กรุงเทพฯ พร้อมด้วยคณะร่วมกันสร้างนำมาถวายและประดิษฐาน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ วัดป่าโมกวรวิหารแห่งนี้ เมื่อวัน วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2543

ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.2406 รัชกาลพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินแก่พระปลัดอิน เจ้าอาวาสวัดป่าโมกนำไปปฏิสังขรณ์วัดป่าโมก เสร็จแล้วพระราชทานสมณศักดิ์พระปลัดอิน เป็นพระครูป่าโมกข์มุนี เสด็จฯมาถวายพระกฐินโดยเรือพระที่นั่งกลไฟ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดป่าโมกขั้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท

 

 

อนุสาวรีย์พระยาราชสงคราม(ปาน)

 

พระยาราชสงคราม ผู้ขันอาสาเป็นแม่กองชะลอพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) จากวัดป่าโมก(เดิม) มาสถิต ณ วัดใต้ หรือวัดตลาด คือ วัดป่าโมกวรวิหาร ปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 22702271เพื่อให้พ้นจากอุทกอันตรายเป็นระยะทาง 10เส้นเศษ ใช้เวลาในการชลอ 5เดือน ในระหว่างการชะลอลาก ถ้าพระพุทธไสยาสน์ เกิดความเสียหายขอถวายชีวิต

 ทางวัดป่าโมกวรวิหาร โดยพระราชสุธรรมาภรณ์ (วิวัฒน์ ฐิตเปโม) เป็นเจ้าอาวาส สำนึกในความเสียสละเวลา และชีวิต เสี่ยงในการนี้ จึงได้พร้อมใจกันสร้างรูปหล่อนี้ไว้เป็นที่ระลึก สักการะ เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2551 และได้เชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2552 โดยพระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัดป่าโมกวรวิหาร รวมพลังกัน

 

 

อนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 9 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันสูงยิ่ง คณะสงฆ์วัดป่าโมกวรวิหาร และประชาชน ได้พร้อมใจกันจัดสร้างพระบรมรูปพระองค์ท่านไว้เป็นที่สักการบูชา เมื่อวันพุธที่ 15มีนาคม พุทธศักราช 2549สถานที่เททองหล่อ หลังพระอุโบสถวัดป่าโมกวรวิหาร สมัยพระราชสุธรรมาภรณ์ (วิวัฒน์ ฐิตเปโม) เป็นเจ้าอาวาส

คุณปราโมทย์ ผอบทิพย์ พร้อมด้วยภรรยา บุตร มีศรัทธาสร้างสถานที่ประทับนี้ถวายสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 9 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2550 และน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงพระเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

 

 

ศาลเจ้าแม่ช่อมะขาม คนงามของบ้านป่าโมก

 

แม่ช่อมะขาม เป็นนามของสตรีชาวป่าโมก ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี ตามคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมากล่าวว่า แม่ช่อมะขาม เป็นคู่ใจของนายขนมต้มผู้สร้างตำนานมวยไทย คราวพม่ายกกองทัพผ่านป่าโมกไปตีอยุธยา แม่ช่อมะขามและนายขนมต้ม เป็นผู้นำชาวป่าโมกสู้กับพม่าจนตัวตาย สละชีพเพื่อรักษาชาติ สมกับเป็นวีรไทยใจกล้าของชาวป่าโมก เป็นตำนานเล่าขนานตราบจนทุกวันนี้

 ที่มา: http://www.siamfreestyle.com